House COVE(R) / TOUCH Architect
บ้านที่ถูกออกแบบต่อเติม เพื่อสะท้อนรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยไปจากเดิม
นี่คือบ้านเดี่ยว 2 ชั้นขนาด 150 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ 2ใน3ของที่ดินขนาด 256 ตารางเมตรนั้นมีขนาดเล็กเกินไปสำหรับสมาชิก 5 คน อันแก่ สามี ภรรยา ลูก 2 คน และคุณยาย จึงเป็นที่มาของการสร้างอาคารต่อขยายบนที่ดินอีกหนึ่งส่วนที่เหลือ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สวน และไม่ค่อยได้ออกไปใช้งานเท่าไรนัก
ตำแหน่งที่ตั้งของอาคาร อยู่บริเวณหัวมุมระหว่างถนนหลักและถนนรองของหมู่บ้านจัดสรร ลักษณะของที่ดินจึงมีรูปร่างที่แตกต่างไปจากยูนิตทั่วไป โดยรูปร่างที่ดินมีลักษณะโค้งเว้า มีมุมที่ถูกปาดเฉียงออก ทำให้พื้นที่ส่วนด้านหน้ามีลักษณะที่แคบ โดยส่วนหลังจะมีขนาดที่กว้างกว่า
House COVE(R) ถูกออกแบบโดยวิเคราะห์จากบริบท โดยคำนึงถึงรูปร่างที่ดิน และการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก จากข้อจำกัดของที่ดินที่แคบและโค้งเว้านี้ การต่อขยายจึงออกมาเต็มพื้นที่ตามการร่นระยะของอาคารที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการใช้ที่ดินบริเวณระยะร่นมาเป็นพื้นที่สีเขียวให้กับผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน ออกแบบจากภายในสู่ภายนอก สะท้อนออกมาเป็นบ้านใหม่ที่มีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยไปจากเดิม
อาคารประกอบไปด้วย 3 ชั้นโดยแต่ละชั้น จะมี floor plate ที่เหมือนกัน โดยมีระดับความเป็นส่วนตัวที่แตกต่างกัน ชั้นล่างถูกจัดให้เป็นศูนย์รวมของพื้นที่ใช้สอย เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นจุดเดียวที่เชื่อมต่อกับอาคารเดิม มีพื้นที่เล่น (Play area) ที่มีลักษณะของ Double volume การเปิดช่องเปิดจากพื้นจนถึงใต้ท้องบันไดชั้น 2 ขึ้นชั้น 3 เพื่อให้แสงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้กับคนในบ้านอีกทั้งยังทำให้พื้นที่ที่แคบดูกว้างและโปร่งขึ้น
ห้องนอนผู้สูงอายุถูกจัดให้อยู่ในชั้นนี้เช่นเดียวกันเพื่อให้สามารถมองดูหลานๆได้อย่างใกล้ชิด ส่วนชั้น 2 จัดเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้าน จึงไม่มีการเชื่อมต่อกับบ้านเดิม พื้นที่ส่วนด้านหลังของชั้นนี้จะประกอบไปด้วยห้องนอน ห้องน้ำ และห้องแต่งตัวสำหรับเจ้าของบ้านและลูกๆ ณ ปัจจุบันที่ยังเล็กอยู่
ในขณะที่บันไดถูกจัดวางให้อยู่ในส่วนที่แคบที่สุดทางด้านหน้า และขนานไปกับรูปทรงของบ้าน ดังนั้นตำแหน่งบันไดขึ้นชั้น 3 จึงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับบันไดที่ขึ้นมาจากชั้น 1 เพื่อให้พื้นที่ถูกใช้สอยได้มากที่สุด
ส่วนชั้น 3 จัดเป็นชั้นที่มีความเป็นส่วนตัวที่สุด เนื่องจากเจ้าของบ้านมีการเลี้ยงลูกแบบ Montessori พื้นที่ดูหนังจึงถูกแยกออกมาเป็นส่วนตัวจากพื้นที่อื่นๆ โดยชั้นนี้จะมีขนาดเพียงครึ่งเดียวของชั้นอื่นๆที่ถูกออกแบบจากการใช้งานจริง โดยพื้นที่อีกครึ่งหนึ่งจึงถูกใช้เป็นพื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้า ซึ่งทดแทนพื้นที่สีเขียวที่หายไปจากการสร้างอาคารนี้
โครงสร้างเหล็กถูกนำมาใช้เพื่อลดความลึกของคาน ที่จะส่งผลต่อความสูงของอาคารโดยรวมเป็นหลัก และช่วยลดขนาดเสา จึงช่วยเพิ่มพื้นที่ภายในอาคารได้มากขึ้น บันไดสองชั้นวางอยู่ในมุมที่ต่างกันเพื่อนำพื้นที่ทางเดินกลับมาเป็นพื้นที่ใช้งาน
ช่องว่างระหว่างบันได 2 ชั้นพร้อมช่องรับแสง ช่วยให้แสงธรรมชาติส่องผ่านถึงชั้นล่าง บันไดนี้เกิดจากการใช้เหล็กพับยึดเข้ากับแม่บันไดเหล็ก จึงทำให้มีลักษณะที่บางและเบา เมื่อผู้ที่อยู่บริเวณชั้นล่างมองขึ้นมาจึงไม่เกิดความรู้สึกกดทับ อีกทั้งยังรู้สึกโปร่งเนื่องจากบันไดนี้ไม่บังแสงจาก Skylight บริเวณชั้นบน
เนื่องจากบ้านตั้งอยู่บริเวณหัวมุม และต้องการความเป็นส่วนตัว จึงมีส่วนที่เป็นเปลือกอาคาร (Facade) ที่มีลักษณะโปร่งแสงอย่างระแนงอลูมิเนียมกล่องแนวตั้ง กับตะแกรงเหล็กฉีกมาสร้างความเป็นส่วนตัวให้ผู้อยู่อาศัย ระแนงอลูมิเนียมกล่องจะช่วยร้อยเรียงบ้านเดิมกับบ้านใหม่ ล้อไปด้วยกันกับบันไดและราวกันตกของชั้นบน สร้างเป็นรูปแบบที่ต่อเนื่องและกลมกลืนกันเกิดเป็นรูปแบบของอาคารที่ดูสะดุดตา
นอกจากนั้นตะแกรงเหล็กฉีกที่นำมาใช้เป็นวัสดุรั้ว จะช่วยพรางสายตาจากการสัญจรภายนอกบ้าน ในขณะเดียวกันยังช่วยให้คนที่อยู่ในบ้านสามารถมองออกไปเห็นธรรมชาติภายนอก
Main Information
Architects : TOUCH Architect
Location : Bangphli, Samutprakarn, Thailand
Program : Residential
Area : 170 m²
Year : 2021
Photographs : Anan Naruphantawat
ผู้เขียนบทความ
We promise to fulfill your inspiration and make it happen, since we believe that architecture is not just a building. It is where we live, work, relax or even learn. We spend most of our lives in it. So, in time, it has become such a memorial to us. Also, it is one of the most fascinating aspects of human skills since the beginning of time. It indicates a timeline, as well as an expression of life, society, culture, and intellect. It is undeniable that architecture is a functional art which tells us many stories. Without architecture, there would be no buildings or art of any kind.
It is the architects who design and create architecture. Therefore, without architect, there would be no architecture. ... อ่านเพิ่มเติม