สรุปวิวัฒนาการของประตู-หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม EP.2 ช่วงเกือบ 40 ปี (ค.ศ.1981 - ปัจจุบัน)
จากวิวัฒนาการของประตู-หน้าต่าง EP.1 ได้นำเสนอประเด็นมโนทัศน์ของสังคมที่แฝงมากับความเชื่อของประตู และประเด็นของประเภทประตูและวัสดุผลิตประตูที่ถูกสร้างสรรค์ตามเทคโนโลยีของแต่ละยุคสมัย จากเนื้อหาภายในบทความได้ยุติประวัติศาสตร์ของงานประตูที่คศ.1981 บริษัทสเปเชียล-ลิท (Special-Lite, Inc.) ได้สร้างสรรค์ประตูพลาสติกเสริมแรงด้วยเส้นใย (FRP; Fiber Reinforced Polymer) ครั้งแรกของโลก
แต่เกือบ 40 ปีต่อมาหลังจากนั้น ประตู-หน้าต่างมีวิวัฒนาการอย่างไรจนถึงยุคปัจจุบัน?
บทความ EP.2 นี้ มีคำตอบ
ประตู-หน้าต่างในช่วงเวลาเกือบ 40 ปีต่อมา (ค.ศ.1981 – ค.ศ. 2020) ผลิตจากวัสดุที่หลากหลาย ได้แก่ ไม้จริง, ไม้สำเร็จรูปประเภทต่างๆ, ไม้ Engineer, ไม้เทียม WPC, กระจกประเภทต่างๆ, อลูมิเนียม, พลาสติก PVC (Polyvinyl Chloride) และ uPVC (Unplasticized Poly Vinyl Chloride)
วัสดุดังกล่าวถูกนำมาผลิตประตู-หน้าต่างหลากประเภทหลายรูปแบบดีไซน์
ประตู-หน้าต่างประเภทไหนถูกเลือกขึ้นมาใช้ในงานออกแบบขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับฟังก์ชั่น สไตล์งานออกแบบ และความชื่นชอบส่วนตัวของเจ้าของโครงการ ซึ่งตลอดเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา งานออกแบบหลากหลายสไตล์ ได้แก่ สไตล์โมเดิร์น (Modern style) สไตล์ร่วมสมัย (Contemporary style) สไตล์โมเดิร์นคลาสสิก (Modern classic style) สไตล์มินิมอล (Minimal style) สไตล์ลอฟท์ (Loft style) ถูกสลับขึ้นมาเป็นที่นิยมในสังคมและวนซ้ำไปมาภายในช่วงเวลาสั้นๆ จึงไม่สามารถระบุเป็น Timeline ที่ชัดเจน
จึงขอสรุปเป็น infographic ดังภาพด้านล่างนี้
จากภาพข้างต้น แสดงให้เห็นว่าแต่ละสไตล์งานออกแบบ สามารถหยิบยกวัสดุประเภทต่างๆ มาผลิตประตู-หน้าต่าง ได้ตามความเหมาะสมดังที่กล่าวมา
สรุปวัสดุสำหรับผลิตประตู-หน้าต่างในช่วงเวลาเกือบ 40 ปี ดังต่อไปนี้
1. ไม้จริง เป็นวัสดุธรรมชาติที่มีคุณสมบัติแข็งแกร่ง มีลวดลายสวยงาม แต่ปัจจุบันป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกอนุรักษ์ การนำไม้จริงมาใช้ในงานก่อสร้างจึงไม่หายากและมีราคาสูง อีกทั้ง ไม้จริงมีการยืดหดตัวตามสภาพภูมิอากาศ และต้องบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดอายุการใช้งาน ต่อมาจึงมีการคิดค้นวัสดุทดแทนไม้จริงหลายประเภท
2. ไม้สำเร็จรูป เป็นวัสดุทดแทนไม้จริง ทำจากไม้อัดและรีดทับด้วยแผ่นลามิเนต
ไม้สำเร็จรูป แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ไม้ MDF (Medium Density Fiber Board) เหมาะสำหรับใช้งานภายในอาคาร เนื่องจากไม่ทนความชื้น ฝน และแสงแดด
- ไม้ HDF (High Density Fiber) เหมาะสำหรับใช้งานภายในอาคาร เนื่องจากไม่สามารถทนฝนได้โดยตรง แต่ทนความชื้นและปลวก ความแข็งแรงไม่เท่าไม้จริงแต่คงทนกว่าไม้อัด
3. ไม้เอ็นจิเนียร์ (Engineered wood) เป็นวัสดุทดแทนไม้จริง ทำโครงสร้างจากไม้จริงและทับหน้าด้วยผิวไม้สำเร็จรูป มีความคงทนดีกว่าไม้ HDF แข็งแรงเทียบเท่าไม้จริง แต่ไม่หดตัว แตกร้าวเหมือนไม้จริง
4. ไม้เทียม WPC (Wood-Plastic Composite) เป็นวัสดุทดแทนไม้จริง ทำจากเศษไม้ผสมผงพลาสติก มีความแข็งแรง ทนปลวก ทนแดด ฝน ความชื้น
5. กระจก มีหลายประเภท ได้แก่
- กระจกธรรมดา (Float Glass) คือ กระจกโปร่งแสงไม่มีสี มองผ่านได้ชัดเจน ไม่มีค่าการตัดแสง
- กระจกใส (Clear Float Glass) คือ กระจกโปร่งแสงและไม่มีสี มองผ่านได้ชัดเจน มีค่าการตัดแสงมากขึ้นตามความหนาของกระจก เช่น กระจกใสหนา 12 มิลลิเมตร มีค่าตัดแสง 8% เป็นต้น ความหนาของกระจกที่นิยมกับงานทั่วไปจะอยู่ที่ 5 - 6 มิลลิเมตร
- กระจกลามิเนต (Laminated Glass) คือ กระจกนิรภัย ทำจากกระจก 2 แผ่นขึ้นไปประกบกับฟิล์มนิรภัยที่สามารถเก็บเสียง กรองแสง และกันยูวีได้ถึง 95% จากนั้นปิดทับแผ่นกระจกด้วยเรซิน PVB (Polyvinyl Butyral) เมื่อกระจกแตก ชิ้นส่วนจะไม่หลุดออกจากฟิล์ม จึงปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน กระจกลามิเนตทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทก และเคลือบสีได้ตามต้องการ
- กระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass) คือ กระจกนิรภัย มีความหนา 4, 5, 6, 8, 10, 12, 15, 19 มิลลิเมตร ผ่านวิธีการอบด้วยความร้อนสูง เมื่อกระจกแตก ชิ้นส่วนจะกระจายคล้ายเม็ดข้าวโพด มีความคมน้อย จึงปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน กระจกเทมเปอร์ไม่มีฟิล์มตรงกลางเหมือนกระจกลามิเนตจึงไม่สามารถกรองแสง แต่สามารถทนต่อแรงกระทบจากลมคนและน้ำมากกว่ากระจกที่มีความหนาเท่ากันถึง 3 – 5 เท่า
- กระจกฉนวน (IGU; Insulated Glass Unit) ทำจากกระจก 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบกัน มีช่องว่างบรรจุก๊าซเฉื่อยอยู่ตรงกลาง จึงสะท้อนความร้อนได้มากถึง 95 - 98% ไม่เกิดฝ้าจากไอน้ำ เหมาะสำหรับใช้อาคารประหยัดพลังงาน เนื่องจากแสงผ่านได้มากแต่ความร้อนผ่านได้น้อย
- กระจกเขียวตัดแสง (Green Tinted Glass) ทำจากการเคลือบกระจกด้วยสารโลหะ ทำให้เกิดสีสะท้อน แสงผ่านได้มาก 75% แต่ความร้อนผ่านได้ 49% และป้องกันรังสี UV 50% ช่วยประหยัดพลังงาน
กระจกตัดแสง มีคุณสมบัติต่างกันตามสี ดังนี้- กระจกสีฟ้า แสงผ่านได้ 58% ความร้อนผ่านได้ 43%
- กระจกสีชา แสงผ่านได้ 22% ความร้อนผ่านได้ 34%
- กระจกสีเทา หรือกระจกยูโรเกรย์ (Eurogrey) แสงผ่านได้น้อยมาก ความร้อนผ่านได้ 49%
- กระจก Low-E (Low Emission) กระจกถูกเคลือบด้วยสารเงินบางๆ ที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน ทำให้กระจก Low-E มีค่าการถ่ายเทความร้อนต่ำ
- Hard Coat Low-E ค่าการถ่ายเทความร้อน 15% – 36%
- Soft Coat Low-E ค่าการถ่ายเทความร้อน 2% – 10%
แต่แสงยังคงผ่านได้มาก หากนำกระจก Low-E ทำกระจกลามิเนตและกระจกฉนวนจะช่วยประหยัดพลังงานภายในอาคาร
6. อลูมิเนียม (Aluminum) วัสดุอลูมิเนียมเป็นโลหะ จึงมีคุณสมบัติทนแดด ฝน ความชื้น แต่ไม่ทนต่อไอทะเลที่ทำให้เกิดการกร่อนตัว อะลูมิเนียมที่ใช้ทำประตู-หน้าต่างควรมีความหนาไม่น้อยกว่า 1.2 มิลลิเมตร
อลูมิเนียมมี 2 ประเภท ได้แก่
- อลูมิเนียมชุบสีด้วยไฟฟ้า (Anodizing) มี 3 สี ได้แก่ สีชาอ่อน สีชาเข้ม และสีดำ
- อลูมิเนียมพ่นอบสี (Powder Coating) มีหลายเฉดสี มีราคาสูงกว่าอลูมิเนียมชุบสีด้วยไฟฟ้า เนื่องจากป้องกันรอยขีดข่วนได้ดี
7. พลาสติก PVC (Polyvinyl Chloride) ด้วยคุณสมบัติของวัสดุพลาสติก จึงทนความชื้นแต่ไม่ทนแสงแดด น้ำหนักเบา และปลวกไม่กิน แต่ไม่แข็งแรง แตกหักง่าย
8. uPVC (Unplasticized Poly Vinyl Chloride) หรือไวนิล วัสดุสังเคราะห์จากกระบวนการผลิตปิโตรเคมี เป็นโพลิเมอร์พื้นฐานที่มีคุณสมบัติพิเศษกว่าโพลิเมอร์หรือพลาสติกทั่วไป จึงแข็งแรงและทนต่อความร้อน ความเย็น กันน้ำ กันเสียง มีอายุการใช้งานยาวนาน แต่การติดตั้งประตู-หน้าต่าง uPVC ต้องติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากแก้ไขงานที่ผิดพลาดได้ยาก
นอกจากประเด็นประเภทวัสดุข้างต้นแล้ว
วิวัฒนาการของประตู-หน้าต่างในปัจจุบัน ยังมีประเด็นเรื่องประเภทรูปแบบ ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนหน้าตาและฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัย
ประเภทของประตู-หน้าต่าง มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนจนเกิดเป็นรูปแบบต่างๆ ดังนี้
- ประเภทของประตู ได้แก่ ประตูบานเปิด (Swing Door), ประตูบานสวิง หรือ บานเปิดแบบคู่ (Swing Bifold Door), ประตูบานเฟี้ยม (Accordion Door), ประตูบานหมุน (Pivot Door), ประตูบานเลื่อน (Sliding Door)
- ประเภทของหน้าต่าง ได้แก่ หน้าต่างบานเปิด (Swing Window), หน้าต่างบานเลื่อน (Sliding Window), หน้าต่างบานยก (Slide-hung Window), หน้าต่างบานกระทุ้ง (Awning Window), หน้าต่างบานพลิก (Center pivot Windows), หน้าต่างบานเกล็ด (Louver Window), หน้าต่างบานฟิกข้างประตูทางเข้าหลัก (Sidelights Window), และหน้าต่างบานชัตเตอร์ (Shutter Window)
สำหรับรายละเอียดของประเภทประตู-หน้าต่าง และคุณสมบัติที่น่าสนใจ จะนำเสนอในบทความต่อไป
ประตู-หน้าต่างในอนาคตต่อจากนี้จะถูกวิวัฒน์อย่างไร
ขึ้นอยู่กับการนำความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการบริหารจัดการ
มาสร้าง ‘นวัตกรรมใหม่’ ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
และประตู-หน้าต่างในอนาคตจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป....
ผู้เขียนบทความ