บ้านประหยัดพลังงานยุคใหม่ ที่มาในแนวอินดัสเทรียล ดิบ เท่ อย่างมีสไตล์
บ้านขนาด 3 ชั้น หลังนี้มีชื่อว่า ''SPRING HOUSE'' ออกแบบโดยสตูดิโอสถาปนิก W L A ในประเทศใต้หวัน โดยมีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งหมด 288 ตารางเมตร ซึ่งจุดเด่นของบ้านหลังนี้ คือมี Courtyard กลางบ้านที่สูงโปร่ง ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน ผสานกับการนำวัสดุโปร่งใสอย่างกระจกมาใช้เป็นวัสดุหลักอีกประเภทหนึ่งในการตกแต่งบ้านหลังนี้ เพื่อช่วยในการรับแสงธรรมชาติ มาใช้ประโยชน์ภายในตัวบ้านอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น และยังช่วยให้บ้านมีความปลอดโปร่งอีกด้วย
สร้างความสดชื่น สบายตาให้เกิดขึ้นภายในบ้าน ด้วยการสร้างบ่อน้ำขึ้นกลางตัวบ้านในจุดที่เป็นช่องรับแสง พร้อมกับตกแต่งบ่อด้วยพืชธรรมชาติ ประเภทไม้น้ำ ซึ่งช่วยให้บรรยากาศภายในบ้านดูเย็นสบาย และผ่อนคลายมากขึ้นครับ
องศาความเอียงของมุมหลังคา ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำมาใช้ภายในบ้าน ซึ่งเป็นการช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
มีช่องเปิดในขนาดที่กว้างพอ เพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่สวนภายนอกได้อย่างลื่นใหลเสมือนเป็นพื้นที่เดียวกัน การมีช่องเปิดที่กว้างแบบนี้ย่อมทำให้ภายในบ้านมีความปลอดโปร่ง ไม่อึดอัด ทำให้มีกระแสลมที่พัดผ่านเข้ามาในตัวบ้านได้อย่างพอเหมาะ ซึ่งจะช่วยให้ภายในบ้านมีอากาศใหลเวียนถ่ายเทได้ดี โดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ
นอกจากนี้การตกแต่งยังให้ความรู้สึกที่ดิบ เท่ ด้วยสไตล์อินดัสเทรียล กึ่งลอฟท์นิดๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้โครงสร้างที่เป็นเหล็กเฮชบีมทั้งหลัง เพื่อเสริมความแข็งแรงในการป้องกันภัยพิบัติ และการสั่นสะเทือนของรางรถไฟ ในยามที่รถไฟแล่นผ่าน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวบ้านมากนัก และยิ่งทาสีดำลงบนพื้นผิวของโครงสร้างเหล็กทั้งหมดก็ยิ่งเพิ่มความดุดัน เท่ แบบดิบๆได้เป็นอย่างดี อันเป็นการแสดงตัวตนของความเป็นอินดัสเทรียลอย่างชัดเจน
ในขณะเดียวกันก็แอบมีกลิ่นจางๆของสไตล์ลอฟท์อยู่เนืองๆจากการนำอิฐแดงมาใช้ในการตกแต่งผนัง รวมถึงพื้นกระเบื้องลายอิฐที่ถูกนำมาใช้ในส่วนห้องครัว ได้อย่างโดดเด่น
นอกจากวัสดุหลักที่เป็น เหล็ก อิฐ และกระจกแล้ว สถาปนิกยังได้นำโครงสร้างไม้ ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น มาใช้ในการตกแต่งได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งวัสดุประเภทไม้ จะช่วยลดความแข็งกระด้าง แบบดิบๆของความเป็นอินดัสเทรียล และลอฟท์ ให้ซอฟท์ลงได้อย่างลงตัว ไม่ขัดเขิน
การจะนำกระจกมาใช้ในการตกแต่งเป็นจำนวนมากๆ ต้องเป็นบ้านที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีจากสถาปนิก ซึ่งได้ถูกคำนวณทิศทางแสงแดด และลมไว้แล้วเป็นอย่างดี จึงทำให้บ้านไม่ร้อนอบอ้าว
พื้นบ้าน ในชั้นที่ 2 และ 3 จะถูกปูด้วยพื้นไม้เป็นหลัก
ช่องแสงที่ส่องลงมายังบริเวณบ่อน้ำ ภายในบ้าน นับเป็นจุดที่สวยที่สุดยามแสงส่องกระทบ และยังมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ซึ่งได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของบ้านหลังนี้ไปแล้วครับ
ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.archdaily.com
#WAZZADU #SpringHouse #AGC #IndustrialStyle #Idea #Glass #กระจก #ByMisterStyle
ผู้เขียนบทความ