ข้อมูลวัสดุศาสตร์ รูปแบบและวิธีการติดตั้งประตูมุ้งลวด (Insect Screen)
รูปแบบและวิธีการติดตั้งมุ้งลวด
Type: Decorative Material (วัสดุตกแต่ง)
Category: Insect Screen Door (ประตูมุ้งลวด)
ปัจจุบันบ้านพักอาศัยหรือคอนโดมิเนียมหลายๆ แห่งมักไม่ติดตั้งมุ้งลวดมาด้วยซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลทางด้านการตลาด เพื่อให้ราคาขายลดลง ในส่วนของผู้ซื้อเองก็มีความรู้สึกอยากทยอยจ่ายและค่อยๆ ต่อเติมเพิ่มไปทีละส่วน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการตกแต่งให้ครบ จบในครั้งเดียวตั้งแต่แรกนั้นจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์กว่า
ข้อดีของการติดตั้งมุ้งลวดพร้อมกับการติดตั้งประตู
- ราคาโดยรวมจะถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการติดตั้งเพิ่มเติมภายหลัง
- มีความสะดวกในการใช้งานและแข็งแรงมากกว่า เพราะมีการเลือกใช้เฟรมที่เข้ากันได้ตั้งแต่แรก เพราะเฟรมของประตูมุ้งลวดที่ติดตั้งภายหลังจะนูนออกมาจากผนัง
- มีความสวยงามเรียบร้อยกว่าการติดตั้งเพิ่มเติมภายหลัง เช่น หากเฟรมประตูเดิมเป็นสีพิเศษ การติดตั้งประตูมุ้งลวดเพิ่มเติมภายหลังอาจทำให้ได้สีของเฟรมประตูที่ไม่เหมือนกัน
ข้อควรพิจารณาในการออกแบบหรือเลือกใช้ประตูมุ้งลวด
- รูปแบบประตู ประตูบานเปิดนั้นมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบานเปิด บานสวิง บานเลื่อน หรือบานเฟี้ยม ดังนั้นการติดตั้งประตูมุ้งลวดจึงมีรูปแบบแตกต่างกันไปด้วย เช่น บานเลื่อนทางเดียวที่มีบานเลื่อนมากกว่า 1 บาน จะไม่เหลือรางให้ติดมุ้งลวด เพราะเฟรมท้องตลาดมีพื้นที่สาหรับแค่ 3 ราง โดยสามารถเลือกใช้เป็นประตูมุ้งลวดแบบจีบและทำการเสริมรางเพิ่ม
- ความกว้างของประตู อาจเลือกใช้เป็นมุ้งลวดแบบพับจีบเช่นเดียวกันกับข้อแรก หรือหากต้องการใช้เป็นประตูมุ้งลวดบานเปิดหรือบานเลื่อนก็ต้องมีการเลือกใช้เฟรมที่แข็งแรงมากขึ้น
- ความสูงของประตู เฟรมมุ้งลวดที่ใช้กันทั่วไปเป็นอะลูมิเนียมอะโนไดซ์ ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างบาง ควรมีการเสริมเส้นคาดตรงกลางเพื่อช่วยให้บานมุ้งลวดแข็งแรงทนทานมากขึ้น หรืออาจใช้เป็นเฟรมของประตูอะลูมิเนียมลูกฟักกระจกมาปรับเป็นมุ้งลวดแทน
- วัสดุของแผ่นมุ้งลวด ปัจจุบันนิยมใช้บานมุ้งลวดไฟเบอร์และไนลอนมาใช้แทนมุ้งลวดเหล็กแบบเดิม
- วัสดุและสีของเฟรม เนื่องจากประตูนั้นมีวัสดุให้เลือกใช้หลากหลายประเภทการเลือกใช้ประตูมุ้งลวดจึงควรใช้วัสดุเดียวกันหรือกลมกลืนกัน
- มือจับประตูให้เลือกชนิดที่เหมาะกับรูปแบบของประตูมุ้งลวดและประตูหลักที่ติดตั้งเข้าชุดกัน เนื่องจากมือจับสำหรับประตูมุ้ลวดจะยื่นออกมาน้อยกว่ามือจับทั่วไป เมื่อเปิด-ปิดประตูแล้วมือจับจะไม่กระทบกับประตูอีกบาน
รูปแบบหรือประเภทของมุ้งลวดมีหลายชนิด ดังนี้
- มุ้งลวดบานเปิด (Hinge Insect Screen)
- มุ้งลวดบานเลื่อน (Sliding Insect Sreen)
- มุ้งลวดแบบจีบ (Retractable Insect Screen, Pleated Screen)
- มุ้งลวดแบบม้วนเก็บ (Rolling Insect Screen)
- มุ้งลวดแบบแผ่นแม่เหล็ก (Magnetic Insect Screen)
1. ประตูมุ้งลวดแบบเปิด (Hinge Insect Screen)
ไม่สามารถใช้กับบานสวิง (บานเปิด 2 ทาง) ได้ ส่วนมากใช้คู่กับประตูบานเปิดเดี่ยว หรือบานเปิดคู่ โดยติดตั้งบานพับของประตูให้เเปิดไปอีกด้านตรงข้างกับประตูหลัก เช่น ประตูไม้หน้าบ้านที่เปิดออกด้านนอก หากติดตั้งประตูมุ้งลวดก็ให้เปิดเข้าด้านใน ในต่างประเทศอาจติดสลับกันเนื่องจากกรณีที่มีหิมะตกหนัก หากติดตั้งประตูให้เปิดออกด้านนอกจะทำให้ติดหิมะ ประตูบ้านส่วนใหญ่จึงเปิดเข้าในบ้าน
ในประเทศไทยเดิมทีนิยมติดตั้งมุ้งลวดด้านในเนื่องจากสภาพภูมิกาศเป็นหลัก หากใช้ภายนอกโดนแดดโดนฝนบ่อยจะทำให้สึกกร่อนได้ง่าย รวมทั้งฝุ่นละอองสามารถสะสมตามร่องได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งจะทำให้บ้านดูสกปรกไม่สวยงาม ประตูมุ้งลวดแบบที่เห็นได้ทั่วไปนั้นจะผลิตจากอะลูมิเนียมถักและกรอบบานอะลุมเนียมแบบบางๆ ซึ่งบอบบางและเสียหายได้ง่าย
แต่ในปัจจุบันนวัตกรรมเรื่องวัสดุได้พัฒนาไปมาก ผู้ผลิตหลายรายเริ่มหันมาใช้วัสดุประเภทอื่นที่มีความทนทานมากขึ้นมาผลิตเป็นมุ้งลวด เช่น ไนลอน จึงสามารถติดตั้งไว้ภายนอกอาคารได้โดยไม่ต้องกังวลว่ามุ้งลวดจะเสียหายจาก แดด ลม ฝน และพัฒนาไปจนถึงขั้นที่ว่าสามารถใช้ประตูมุ้งลวดเป็นประตูนิรภัยแทนเหล็กดัดได้ด้วยการใช้วัสดุสเตนเลสถักแทนลวดอะลูมิเนียมแบบเดิม สเตนเลสถักนั้นทนแรงกระแทกได้ดีและไม่ฉีกขาดเมื่อโดนของมีคม เช่น ขวาน นอกจากสเตนเลสถักจะไม่เสียหายแล้ว ยังไม่หลุดออกมาจากกรอบบานอีกด้วย โดยกรอบบานก็มีการพัฒนาให้ความหนาเท่าประตูปกติ และมีการยึดมุ้งลวดให้ติดแน่นกับตัวกรอบไม่หลุดออกมาได้ง่าย วัสดุกรอบบานมีทั้งเหล็ก และอะลูมิเนียม
หากต้องการเพิ่มรายละเอียดเพื่อป้องกันเด็ก หรือสัตว์เลี้ยงไปสัมผัสฝุ่นที่ประตู หรือทำความเสียหายให้กับประตูมุ้งลวดโดยไม่ตั้งใจ สามารถเปลี่ยนลูกฟักด้านล่างให้เป็นกระจกหรืออะคลิลิค และสามารถเพิ่มช่องสำหรับเข้า-ออกให้กับสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย
2. มุ้งลวดแบบบานเลื่อน (Sliding Insect Sreen)
มีทั้งแบบบานเลื่อนเดี่ยวและบานเลื่อนคู่ สิ่งสำคัญที่สุดคือรางหากต้องการประตูมุ้งลวดบานเลื่อนแนะนำให้ติดตั้งพร้อมกันตั้งแต่แรก เพราะการเพื่มรางทีหลังจะทำให้ตัวรางปูดออกมาจากผนังดูแล้วไม่สวยงาม สามารถติดตั้งได้หลากหลายแบบ ทั้งแบบรางล่าง แบบรางบน โดยวัสดุที่ใช้นั้นมีให้เลือกทั้ง ไม้ uPVC และอะลูมิเนียม เป็นต้น
บานเลื่อนเดี่ยว ที่ใช้กันส่วนมากมี 2 แบบคือ เป็นบานเลื่อนเดี่ยวทางเดียวซึ่งจะมีบานติดตาย 1 บาน และมีอีกบานเป็นบานที่เลื่อนได้ ในกรณีนี้มักติดประตูมุ้งลวดแบบเลื่อนเก็บได้ในกรณีที่ต้องการเปิดประตูเข้า-ออกก็จะเลื่อนไปเก็บไว้ด้านเดียว ดังนั้นรางจะมีทั้งหมด 3 ราง โดยสามารถเลือกได้ว่าจะติดตั้งบานประตูมุ้งลวดไว้ด้านในสุดหรือด้านนอกสุด หากติดไว้ด้านนอกสุดจะมีข้อดีตรงที่เวลาเปิด-ปิดประตูบานเลื่อนนั้นไม่ต้องเปิดประตูมุ้งลวดออกก่อน ซึ่งจังหวะที่เปิดประตูทั้งหมดนี้อาจจะทำให้ยุงบินเข้ามาภายในอาคารได้
ประตูบานเลื่อนสลับ คือมีบานประตู 2 บาน ซึ่งสามารถเลื่อนสลับไปมาได้ การติดตั้งมุ้งลวดสามารถติดแบบเลื่อนได้เช่นเดียวกับที่กล่าวไปแล้ว หรือติดแบบติดตายไว้ที่ด้านนึงโดยที่ประตูอีกสองบานสามารถเลื่อนไป-มาได้ ซึ่งหากต้องการปิดประตูทั้งหมดก็เลื่อนประตูทั้ง 2 บานปิดไว้ตามปกติ หากต้องการเข้า-ออก ก็เลื่อนประตูทั้ง 2 บานไปเก็บไว้ด้านเดียวกับประตูมุ้งลวด และหากต้องการเปิดให้ลมเข้าออกก็สามารถเกลื่อนประตูทั้ง 2 บานมาไว้อีกด้านของประตูมุ้งลวด
ประตูบานเลื่อนคู่ เป็นลักษณะบานมุ้งลวดทั้ง 2 ข้างจะมีขนาดเท่าหรือไม่เท่ากันก็ได้ โดยการเพิ่มรางขึ้นมาอีกรางสำหรับชุดประตูมุ้งลวดบานเลื่อน หากเป็นบานเลื่อนสลับหรือบานเลื่อนแบบหลายๆ บานซ้อนกัน แนะนำให้ใช้ประตูมุ้งลวดแบบจีบซึ่งจะกล่าวถึงในข้อถัดไปครับ
การทำความสะอาดนั้นก็สามารถทำได้ง่ายเนื่องจากวัสดุที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้สามารถชำระล้างสิ่งสกปรกได้บ่อยครั้งขึ้น และในผู้ผลิตบางรายยังได้มีการดีไซน์ให้มีดีเทลเพื่อช่วยในการทำความสะอาด โดยติดตั้งสักกะหลาดแนวตั้งไว้บริเวณกรอบบานติดตายด้านที่อยู่ตรงกลางซึ่งตัวสักกะหลาดจะเป็นตัวปัดฝุ่นออกจากมุ้งลวดทุกครั้งที่มีการเปิด-ปิดประตูมุ้งลวด
ประตูมุ้งลวดแบบรางเลื่อนโดยทั่วไปสามารถถอดรางออกมาเพื่อทำความสะอาดได้ หากต้องการความปลอดภัยให้เลือกใช้ประตูมุ้งลวดแบบที่ไม่สามารถถอดออกมาจากรางได้ โดยเลือกใช้รางที่มีความสูงกว่าปกติทั้งรางล่างและรางบน ทำให้ไม่สามารถถอดบานประตูมุ้งลวดออกมาได้ การทำความสะอาดสามารถใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหรือติดตั้งสักกะหลาดตามที่กล่าวไปแล้วก็ได้
3. มุ้งลวดแบบพับจีบ (Retractable Insect Screen, Pleated Screen)
มุ้งลวดแบบสไตล์ญี่ปุ่น มีลักษณะพับเป็นจีบเล็กๆเหมือนพัด ถ้าเป็นบานเลื่อนเดี่ยวจะต้องพับเก็บเข้าด้านนึง แต่ถ้าเป็นบานเลื่อนคู่จะต้องพับเก็บไปทั้ง 2 ด้าน นอกจากนี้มุ้งลวดแบบพับจีบยังแบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภท คือ
มุ้งลวดพับจีบแบบมีราง มีกล่องเสริมมีขนาดประมาณ 1×1 นิ้ว แปะหน้าวงกบประตูเดิม โดยลักษณะรางนั้นจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมหรือทำขอบให้โค้งมนขึ้นอยู่กับผู้ผลิต หากมีเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่ใช้ Wheel chair แนะนำให้ใช้แบบไม่มีราง
มุ้งลวดพับจีบแบบไม่มีราง ไม่มีรางด้านล่างแต่จะมีแผ่นรับรางด้านล่างสูงประมาณ 3 มิลลิเมตร เป็นเหมือนตัวไกด์บาน มุ้งลวดพับจีบจะถูกพับและเลื่อนเข้าไปเก็บไว้ที่กล่องด้านข้างเมื่อไม่ได้ใช้งาน ทำให้ปลอดภัยและเดินเข้า-ออกไม่สะดุด และสะดวกในการทำสะอาดพื้น ทั้งนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้มุ้งลวดพับจีบแบบไม่มีรางกับทุกประตู ให้พิจารณาพื้นที่การใช้งานเป็นหลักว่ามีการสัญจรไปมามากน้อยแค่ไหน
ข้อดีของมุ้งลวดแบบพับจีบคือ เวลาไม่ใช่งานสามารถพับมุ้งลวดเก็บไว้ด้านข้างได้ สามารถเปิดประตูโล่งเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมที่ต้องการการเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอกได้อย่างเต็มที่ การใช้งานนั้นเหมาะสำหรับประตูทุกรูปแบบ ทั้งบานเปิด บานเลื่อน บานพับ รวมทั้งบานประตูแบบเข้ามุมก็สามารถทำได้ แต่ข้อเสียคืออัตราการมองเห็นภายนอกผ่านมุ้งลวดแบบพับจีบนั้นอาจจะน้อยกว่ามุ้งลวดชนิดอื่น เนื่องจากแผ่นมุ้งลวดที่พับซ้อนกัน และยังมีเส้นคาดเพื่อร้อยตัวมุ้งลวดไว้ด้วยกันคั่นตามแนวนอนเป็นระยะ
4. มุ้งลวดแบบม้วนเก็บ (Rolling Insect Screen)
เป็นมุ้งลวดที่ถูกออกแบบมาให้สามารถเก็บซ่อนได้อย่างเรียบร้อย ใช้งานได้สะดวกขึ้นเหมาะกับบ้านทุกสไตล์ ไม่ว่าจะโมเดิร์นหรือคลาสสิค สามารถทำความกว้างได้มากที่สุดถึง 4 เมตร สูง 3 เมตร มีให้เลือกทั้งแบบสไลด์ขึ้นด้านบน แบบสไลด์เก็บด้านข้างด้านเดียว และแบบไสลด์แยยกเก็บด้านข้าง ทั้ง 2 ข้าง
มีให้เลือกใช้ทั้งแบบแรงคน (Manual) และแบบอัตโนมัติ เมื่อไม่ใช้งานสามารถม้วนเก็บทำให้สามารถใช้พื้นที่แบบต่อเนื่องได้อย่างเต็มที่ และเมื่อปิดมุ้งลวดลงก็สามารถมองเห็นทัศนียภาพได้เหมือนกับไม่ติดมุ้งลวดเนื่องจากไม่มีเส้นคาดกลางหรือกรอบบาน
ควรเลือกมุ้งลวดบานม้วนแบบที่มีตัวเบรกหรือตัวชะลอไม่ให้บานม้วนดีดกลับอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ และประตูมุ้งลวดแบบบานม้วนมักติดสักะหลาดไว้ที่กล่องเพื่อช่วยในการทำความสะอาดมุ้งเช่นเดียวกันกับประตูมุ้งลวดแบบบานเลื่อน
5. มุ้งลวดแบบแม่แหล็ก (Magnetic Insect Screen)
เป็นระบบมุ้งลวดที่มีวัตถุประสงค์ไว้ป้องกันแมลง และระบายอากาศในบริเวณที่ไม่ต้องมีการเปิด-ปิดอยู่บ่อยๆ เช่นบริเวณห้องเก็บของ ช่องระบายอากาศต่างๆในห้องน้ำ ช่องระบายอากาศที่อยู่ในตำแหน่งสูง สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ระดับนึง แต่มีข้อเสียคือไม่แข็งแรงทนทานเหมือนมุ้งลวดประเภทอื่น
มุ้งลวดแบบแม่เหล็กนี้มีขายทั่วไป และสามารถติดตั้งได้เองไม่ยาก โดยการติดตัวมุ้งเข้ากับด้านหน้าของวงกบ ลักษณะมุ้งจะเป็น 2 ชิ้นเพื่อให้เปิดเข้า-ออกตรงกลางได้ และมีแผ่นแม่เหล็กติดอยู่ระหว่างมุ้งลวดทั้ง 2 ชิ้น เมื่อเปิดแล้วตัวแม่เหล็กนี้จะดึงดูดกันทำให้มุ้งลวดปิดไว้เหมือนเดิมโดยอัตโนมัติ
มุ้งลวดแบบแบบแม่แหล็ก มักเป็นแบบสำเร็จรูปและเป็นขนาดเล็กเหมาะสำหรับประตูบานเดี่ยวขนาดปกติประมาณ 1 ม. x 2 ม. ซึ่งอาจจะไม่พอดีกันกับขนาดของประตูบ้านที่มีการดีไซน์พิเศษ ความสวยงามไม่เท่ากับประตูมุ้งลวดแบบอื่นๆ วัสดุส่วนใหญ่ผลิตจากโพลียูริเทนซึ่งความแข็งแรงทนทานก็ไม่เท่ากับวัสดุชนิด
ทั้งนี้เรื่องราวของประตูมุ้งลวดนั้นยังมีเรื่องของวัสดุที่ใช้ผลิตมุ้งลวด และวัสดุที่ใช้ทำกรอบบานที่ต้องนำมาใช้พิจารณาในการเลือกใช้ ซึ่งเรา WAZZADU.COM จะนำมาย่อยให้อ่านกันกันต่อไปครับ
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม