เปรียบเทียบ ข้อดี - ข้อเสีย พื้นไม้ลามิเนต vs กระเบื้องยาง
เปรียบเทียบ ข้อดี - ข้อเสีย พื้นไม้ลามิเนต กับ กระเบื้องยาง ซึ่งจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น วันนี้ wazadu ย่อยมาให้แล้ว มาชมกันเลยครับ
เปรียบเทียบวัตถุดิบ Raw Material
พื้นไม้ลามิเนต
พื้นไม้ลามิเนต ผลิตมาจากผงไม้ หรือ ฝุ่นไม้ ที่ได้มาจากไม้เนื้อแข็ง โดยผ่านกระบวนการบีบอัด หรือบดอย่างละเอียดโดยผสมสารเคมีชนิดต่างๆ เช่น เมลามีน และสารป้องกันความชื้น เพื่อทำปฏิกิริยาให้ตัววัสดุมีประสิทธิภาพ และความคงทนเพิ่มมากขึ้น จนได้ออกมาเป็นแผ่นไม้ที่มีความแข็งแรง เหมาะที่จะนำไปใช้เป็นเลเยอร์ชั้นแกนกลาง และชั้นล่างสุดของพื้นไม้ลามิเนต
ส่วนเลเยอร์ชั้นบนของพื้นไม้ลามิเนตนั้น จะเป็นชั้นที่ให้ผิวสัมผัสที่สวยงามเหมือนไม้จริง ซึ่งลวดลายต่างๆได้มาจากการใช้ภาพถ่ายลายไม้เสมือนจริง หรือออกแบบโดยคอมพิวเตอร์ และนำไปเคลือบทับด้วย เมลามีน ,ลามิเนต และเคลือบด้วยเรซิน เพื่อให้ลวดลาย หรือ ผิวสัมผัสเหล่านี้ทนทานต่อรอยขีดข่วน
พื้นกระเบื้องยาง
กระเบื้องยางที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน วัตถุดิบที่ใช้ผลิตจะแบ่งออกเป็น หมวดหลัก 2 ดังนี้
- ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ยางพารา ฯลฯ
- ผลิตจากวัตถุดิบโพลิเมอร์ที่ได้จากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น สารสังเคราะห์ไวนิล ,ยางพีวีซี ,โพลียูรีเทน ฯลฯ
เปรียบเทียบข้อดี
พื้นไม้ลามิเนต
- มีผิวสัมผัสที่สวยงามให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับไม้จริง
- สามารถเลือกสี หรือลายไม้ตามแบบที่เราต้องการได้
- มีความทนทานต่อการรับน้ำหนัก และแรงกระแทกขีดข่วน
- มีน้ำหนักเบา
- ติดตั้ง หรือ เปลี่ยนแผ่นแบบเฉพาะจุดโดยไม่ต้องรื้อใหม่ทั้งหมดเวลาเเผ่นใดแผ่นนึงเกิดความเสียหาย ซึ่งทำได้ง่ายรวดเร็วด้วยระบบกลไกการล๊อกที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นไม้ หรือที่เรียกว่า Click Lock
- สามารถปูทับ พื้นกระเบื้อง เซรามิค ได้เลย
พื้นกระเบื้องยาง
- มีพื้นผิวให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ใช้ภายใน และภายนอกอาคาร
- ให้การยึดเกาะที่ดี ช่วยลดการลื่น ให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน
- ทนทานต่อสภาวะอากาศ และสิ่งแวดล้อมปกติ
- มีความคงทน เหนียว และคงรูปได้ดี
- มีทนต่อความชื้นได้ดี
- หมดปัญหาเรื่องปลวก และทำความสะอาดง่าย
- ใช้เวลาติดตั้งไม่นาน ไม่เกิดฝุ่น ไม่เสียงดังขณะติดตั้ง
- กระเบื้องยางที่ใช้ภายในอาคารบางประเภท ผู้ใช้งานสามารถติดตั้งได้ด้วยตนเอง
- รอยต่อระหว่างแผ่นสนิท ลดปัญหาความสกปรกของร่องยาแนว ที่มักจะพบได้จากการปูกระเบื้องแบบทั่วๆไป
เปรียบเทียบข้อเสีย
พื้นไม้ลามิเนต
- ไม่ทนน้ำ และความชื้นสูง ถ้าหากโดนน้ำขังนานเกิน 12 ชั่วโมงขึ้นไป จะทำให้เกิดการพองบวม และบิดตัว
- มีโอกาสโดนปลวกกินถ้าเลือกใช้เกรดไม่ดี
- มักจะเกิดความเสียหายเวลาที่รับน้ำหนักวัตถุที่มีลักษณะเป็นเดือยแหลมคม เช่น ส้นของรองเท้าส้นแหลม เป็นต้น
- ไม่สามารถทำความสะอาดด้วยการใช้แว๊กซ์ น้ำยาขัดเงา หรือ น้ำยาที่มีส่วนผสมของสบู่ เพราะจะทำให้พื้นลามิเนตเกิดความเสียหายได้
พื้นกระเบื้องยาง
- เกิดรอยขีดข่วนง่าย ไม่ทนต่อการลากถูสิ่งของบนพื้นผิว
- ไม่ทนต่อกรด ด่าง และสารเคมีบางประเภท
- ไม่ทนต่อรถเข็นล้อยาง หากใช้ในสถานที่มีรถเข็นที่ใช้ล้อเลื่อนเป็นยางจะทำให้ผิวหน้าเสียหาย ควรเลือกใช้ล้อประเภทพลาสติก หรือ ล้อในล่อน
- อาจเกิดการยืดหดตัวมากกว่าเกณฑ์ปกติ ถ้าหากเลือกใช้กระเบื้องยางเกรดไม่ดี
- อาจเกิดความเสียหายจากความชื้นสูง หรือ โดนน้ำท่วมขัง ถ้าหากเลือกใช้กระเบื้องยางเกรดไม่ดี
- การติดตั้งทับพื้นกระเบื้องเซรามิค ต้องปรับตรงยาแนวให้เรียบก่อน ถ้าปูทับโดยไม่ปรับระดับยาแนวให้เรียบจะทำให้กระเบื้องยางเป็นลอนคลื่นอย่างชัดเจน
เปรียบเทียบการนำไปใช้งาน
พื้นไม้ลามิเนต
เหมาะกับการนำไปใช้งานภายในอาคารเท่านั้น (ยกเว้นภายในอาคารสาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน เพราะจะเป็นรอยได้ง่ายจากส้นรองเท้าปลายแหลม และการลากถูสิ่งของ)
พื้นกระเบื้องยาง
มีทั้งแบบใช้งานภายใน และภายนอกอาคาร
เปรียบเทียบการติดตั้ง
พื้นไม้ลามิเนต
การติดตั้งพี้นไม้ลามิเนตในปัจจุบันมีระบบ Click Lock ที่เป็นกลไกคอยเชื่อมต่อระหว่างแผ่นไม้ ที่เปลี่ยนจากการเชื่อมต่อด้วยการทากาวในอดีต มาเป็นการเชื่อมโดยใช้กลไกเล็กๆน้อยๆโดยการเพิ่มตัว Click Lock เข้าไปเพื่อให้มันติดกัน และถอดออกง่ายขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นการติดตั้ง หรือ เปลี่ยนแผ่นแบบเฉพาะจุด จึงทำได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็วโดยไม่ต้องรื้อใหม่ทั้งหมดเวลาเเผ่นใดแผ่นนึงเกิดความเสียหาย
พื้นกระเบื้องยาง
เมื่อทำความสะอาด และปรับระดับพื้นเดิมให้ราบเรียบสม่ำเสมอแล้ว ก็สามารถติดตั้งกระเบื้องยางได้ทันที ซึ่งในปัจจุบันกระเบื้องยางบางประเภท เช่น กระเบื้องยางไวนิล หรือ กระเบื้องยางพีวีซี จะให้ความสะดวกรวดเร็วมาก เนื่องจากเป็นกระเบื้องยางแบบมีกาวในตัว โดยติดมาให้ที่ด้านหลังแผ่น จึงสามารถติดตั้งให้แล้วเสร็จได้ภายในวันเดียว อีกทั้งกระเบื้องยางแบบไวนิล และพีวีซี ที่นิยมใช้ในที่พักอาศัยแบบทั่วๆไป ยังสามารถติดตั้ง และซ่อมแซมเองได้ไม่ยาก
ส่วนกระเบื้องยางประเภทอื่นๆ ยังใช้วิธีการทากาวลงไปก่อน จากนั้นค่อยนำแผ่นกระเบื้องยางมาติดทับลงไป
เปรียบเทียบการดูแลรักษา ทำความสะอาด
พื้นไม้ลามิเนต
- ทำความสะอาดกำจัดฝุ่นโดยการใช้ไม้กวาด ,เครื่องดูดฝุ่นกำจัดฝุ่น ,เช็ดทำความสะอาดด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำเปล่า หรือ น้ำผสมน้ำยาทำความสะอาดเพียงเล็กน้อยเช็ดถูทำความสะอาด
- ทำความสะอาดคราบโคลน หรือ คราบแห้งกรังด้วยน้ำส้มสายชู
- ทำความสะอาดคราบสกปรกด้วยน้ำอุ่น
- ทำความสะอาดคราบเหนียว เช่น ขี้ผึ้ง หรือ หมากฝรั่ง และคราบไขมันด้วยน้ำแข็ง
- ทำความสะอาดคราบหมึกด้วยแอลกอฮอล์
- ทำความสะอาดคราบขี้บุหรี่ด้วยน้ำมันสน
- ทำความสะอาดคราบไวน์ ,สีเทียน และหมึก ด้วยผ้าไมโครไฟเบอร์ชุบน้ำบิดหมาด
- ทำความสะอาดคราบน้ำยาทาเล็บ หรือ ครีมขัดรองเท้า ด้วยน้ำยาล้างเล็บที่มีส่วนผสมของอะซิโตน
- ทำความสะอาดคราบสกปรกจากรอยรองเท้าด้วยยางลบ
พื้นกระเบื้องยาง
- ทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำบิดหมาด
- ขจัดคราบฝังลึกด้วยน้ำยาขัดเงาชนิดครีมเหลว
- ทำความสะอาดกำจัดฝุ่นโดยการใช้ไม้กวาด หรือ เครื่องดูดฝุ่นกำจัดฝุ่น
- คราบสีน้ำมัน ให้ขัดด้วยน้ำยาขัดเงาแบบครีมเนื้อแข็ง โดยใช้แผ่นใยขัดโลหะช่วยขจัดคราบ
- ลบรอยถลอก และรอยส้นรองเท้าบนพื้นไวนิล ด้วยผ้าชุบสารแอลกอฮอล์หรือน้ำมันสน หรือ ขัดรอยออกด้วยผ้าชุบน้ำยาขัดเงาชนิดครีมเหลว
- รอยไหม้ โดยใช้กระดาษทรายเนื้อละเอียดขัด ถ้ารอยไหม้ยังเห็นชัด ตัดส่วนที่เสียหายออก แล้วสอดชิ้นใหม่ลงไปแทน
เปรียบเทียบขนาด และราคา
พื้นไม้ลามิเนต
มีความหนาตั้งแต่ 6 -12 มิลลิเมตร มิติความกว้าง x ยาว เฉลี่ยในท้องตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 195 x 1200 มิลลิเมตร
ราคาประเมิณในท้องตลาด เกรดธรรมดาเริ่มต้นที่ 400 บาท/กล่องขึ้นไป ส่วนเกรดพรีเมี่ยมเริ่มต้นที่ 1,500 บาท/กล่อง ขึ้นไป
พื้นกระเบื้องยาง
มีความหนาตั้งแต่ 2 - 12 มิลลิเมตร มิติความกว้าง x ยาว มีให้เลือกหลากหลาย
- แบบเส้นยาว 15 x 90 เซนติเมตร
- แบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 15×15 และ 30×30 เซนติเมตร
- แบบม้วน หน้ากว้างประมาณ 1.0 -1.20 เมตร ยาว 10 -15 เมตร
ราคาประเมิณในท้องตลาด เกรดธรรมดาเริ่มต้นที่ 280 บาท/ตารางเมตร ขึ้นไป ส่วนเกรดพรีเมี่ยมเริ่มต้นที่ 1,000 บาท/ตารางเมตร ขึ้นไป
เปรียบเทียบอายุการใช้งาน
พื้นไม้ลามิเนต
เกรดธรรมดา มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10-15 ปี
เกรดพรีเมี่ยม มีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป
พื้นกระเบื้องยาง
มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10-15 ปี
*หมายเหตุ : อายุการใช้งานของวัสดุแต่ละชนิดจะเป็นไปตามมาตรฐานความคงทนได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการดูแลรักษาด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้วัสดุตกแต่งประเภทใดๆนั้น ควรไตร่ตรองดูอย่างละเอียดในทุกๆมิติ เนื่องจากมีองค์ประกอบในการตัดสินใจที่หลากหลาย นอกจากข้อมูลการเปรียบเทียบวัสดุชุดนี้แล้ว
สิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุด เราควรพิจารณาดูว่าวัสดุประเภทนั้นๆมีความเหมาะสมกับสไตล์รสนิยมของคุณหรือไม่ รวมถึงมีความเหมาะสมกับพื้นที่ หรือบริบทสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ที่เราจะตกแต่งมากน้อยเพียงใด เพราะเมื่อตัดสินใจไปแล้วมันจะอยู่กับคุณไปอีกนาน และคงไม่มีใครอยากจะแก้ไข หรือ ปรับปรุงบ่อยๆ
ผู้สนับสนุน
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม