บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในย่านสวนผัก เป็นส่วนต่อขยายจากบ้านเดิมของครอบครัวที่อยู่ที่ทางด้านขวา โดยมีวัดถุประสงค์ต้องการสร้างบ้านหลังใหม่สำหรับลูกสาวทั้ง 2 คน และเติมเต็มพื้นที่ส่วนกลางให้บ้านหลังเดิม เพื่อให้คนในครอบครัวได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีพื้นที่ใช้สอย 350 ตารางเมตร สร้างอยู่บนที่ดินรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 105 ตารางวา
ด้วยลักษณะของที่ตั้งนั้นอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่รายล้อมไปด้วยสวนผลไม้ ประกอบกับการเป็นหมู่บ้านเก่า พื้นที่จึงมีความเงียบสงบ และมีบรรยากาศที่เปลี่ยวในบางช่วงเวลา ดังนั้นการคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว จึงกลายมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ และเป็นที่มาของชื่อบ้าน มิด-ชิด ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า มิตร-ชิด ในอีกความหมายคือการเป็นมิตรต่อบ้านเดิม และความใกล้ชิดกันของสมาชิกในครอบครัว
ด้วยความต้องการพื้นที่สีเขียว ผนวกกับแนวความคิดในการสร้างความปลอดภัย ภาพรวมของบ้านมิดชิดจึงถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นพื้นที่ใช้งาน สลับกับการแทรกสวน ด้วยคอร์ตยาร์ดขนาดเล็กจำนวน 4 คอร์ต ที่มีขนาด 3 x 3 เมตร และ 3 x 5 เมตร ที่ทำหน้าที่เป็นช่องแสงนำแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้าน และสร้างการไหลเวียนของลมผ่านทุกๆพื้นที่ใช้งาน อีกทั้งยังเป็นวิวสวนส่วนตัวที่สามารถมองเห็นได้จากทุกพื้นที่การใช้งานของบ้าน ทำให้คนในบ้านได้รับความสดชื่น และได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ
องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมได้ถูกออกแบบจากการนำรูปทรงเรขาคณิตพื้นฐานมาพัฒนาต่อยอด โดยได้ลดถอนรูปทรงสี่เหลี่ยมให้เป็นแผ่นระนาบทั้ง 4 ด้าน จากนั้นได้แบ่งระนาบออกเป็นรูปตัวแอล (L) และนำมาซ้อนทับกันให้เกิดคุณสมบัติรูปทรงของอาคารที่พิเศษ ซึ่งจะทึบสายตาจากภายนอกแต่โปร่งโล่งจากภายใน ผสมผสานกับการเลือกใช้วัสดุที่เรียบง่ายเพียงไม่กี่ชนิด เพื่อให้บ้านหลังนี้แสดงรูปทรง และสเปซ อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งระนาบของบ้านหลังนี้ยังมีลูกเล่นที่ผิวสัมผัสที่แตกต่างกันเพื่อสร้างให้ตัวบ้านมีมิติ เมื่อถูกมองจากระยะใกล้-ไกลที่ต่างกัน
ด้วยลักษณะโดดเด่นของผนังที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อบังสายตาจากภายนอกแล้วนั้น ผนังเหล่านี้ยังได้คำนึงถึงการออกแบบเชิงวิเคราะห์ (Passive Design) เพื่อช่วยลดความร้อนเข้าสู่อาคารโดยตรง จากแสงอาทิตย์ที่เข้ามาจากด้านทิศใต้ตลอดทั้งวัน และในทางกลับกันเมื่อมองจากพื้นที่ภายในผนังเหล่านี้จะทำหน้าที่เปรียบเสมือนฉากหลังให้กับพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน
ในส่วนของการจัดวางเลย์เอ๊าต์นั้นได้ตั้งใจวางตัวบ้านให้ชิดฝั่งซ้ายของที่ดิน เพื่อเหลือพื้นที่เปิดโล่งฝั่งขวาสำหรับจัดสวนขนาดใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมบ้านทั้งสองหลังเข้าไว้ด้วยกัน โดยบริเวณชั้น 1 จัดวางเป็นพื้นที่ใช้สอยส่วนกลางของบ้านประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่นและห้องทานอาหาร แบบผังเปิดโล่ง (Open plan)
เพื่อสร้างความต่อเนื่องจากหน้าบ้านสู่หลังบ้าน รวมไปถึงการสร้างดับเบิ้ลสเปซของห้องนั่งเล่นชั้น 1 ให้สูงโปรงต่อเนื่องไปกับห้องนั่งเล่นชั้น 2 เพื่อเปิดโอกาสให้คนในบ้านได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ซึ่งห้องนั่งเล่นชั้น 2 นี้เองเป็นจุดศูนย์รวมให้สมาชิกทั้งสองบ้านมาใช้พื้นที่ร่วมกันผ่านสะพานที่เชื่อมมาจากบ้านคุณพ่อคุณแม่ และจากห้องนั่งเล่นชั้น 2 นี้จะสามารถมองเห็นพื้นที่สีเขียวได้โดยรอบอีกด้วย ในส่วนของชั้น 3 เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวที่สุด ถูกจัดวางเป็นห้องนอนของสองพี่น้องที่มีวิวสวนส่วนตัวถึง 2 ด้าน
ผลงานการออกแบบจาก Looklen Architects Co., Ltd.
Architects :
คุณณัฐพล เตโชพิชญ์ (Founder / Director
Looklen Architects Co.,Ltd.)