บ้านหลังเล็กนี้ตั้งอยู่ในใจกลางพื้นที่อยู่อาศัยย่านลาดพร้าว ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากบ้านหลังเดิม (สูงสามชั้นที่อยู่ติดกันทางด้านซ้าย) โดยผืนที่ดินนั้นมีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 16 x 16 เมตร มีบ้านพักอาศัยขนาบรายล้อมทั้งสาม ด้าน และด้านหน้าติดกับซอยเล็กๆที่เงียบสงบ ซึ่งความต้องการของเจ้าของบ้านนั้น ต้องการสร้างบ้านหลังใหม่นี้ขึ้นมาเพื่อเติมเต็ม พื้นที่การใช้งาน ของบ้านหลังเดิมที่อยู่มากว่าสิบห้าปี
โดยบ้านหลังนี้จะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่ส่วนกลาง เป็นจุดศูนย์รวมในการทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันของคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนย่อนใจ, พื้นที่สำหรับรับรองแขกหรืองานสังสรรค์, พื้นที่สำหรับการสอนเปียร์โนในวันเสาร์อาทิตย์ และพื้นที่วิ่งเล่นสำหรับน้องหมา เนื่องด้วยข้อจำกัดของงบประมาณและพื้นที่ที่จำกัดนั้น ลูกเล่น สถาปนิกจึงใช้ไอเดียการจัดวางพื้นที่ใช้สอยเป็นลักษณะผังเปิดโล่ง (Open Plan) เพื่อสร้างความต่อเนื่องของฟังก์ชั่นให้เป็นพื้นที่เดียวกัน และเพิ่มโอกาสสำหรับการใช้สอยพื้นที่แบบอเนกประสงค์
ด้วยการวางพื้นที่การใช้งานโอบล้อมพื้นที่ต้นไม้เดิมตรงกลางของที่ดินไว้ ทำให้เกิดสวนกลางบ้าน (Courtyard) ที่เป็นจุดรวมสายตาของทุกฟังชั่น และทำให้พื้นที่ภายในบ้านนั้นดูโปร่งโล่งเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอก แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวของพื้นที่ใช้งานไว้อยู่ด้วยการใช้องค์ประกอบ (Elements) ของผนังทึบผืนใหญ่ที่สอบเข้าหาสวนกลางบ้านที่อยู่หน้าบ้าน
โดยลักษณะของบ้านหลังนี้ จะมีลักษณะเป็นเขตร้อนชื้น (Tropical) ด้วยการใช้ประโยชน์จากรูปทรงหลังคาปั้นหยาสูง (Hip Roof) ที่มีช่องว่างทะลุตรงกลาง เพื่อสร้างพื้นที่ภายในให้สูงโปร่ง และสร้างร่มเงาให้กับพื้นที่รอบบ้านด้วยชายคาที่ยื่นยาว
โครงสร้างหลักของบ้านนั้นเป็นโครงสร้างเหล็ก เพื่อทำให้อาคารมีน้ำหนักที่เบา โดยด้านหน้าบ้านเป็นจุดที่โล่งที่สุดด้วยการใช้โครงสร้างเหล็กพาดช่วงยาว (Wide Span) 14 เมตร ซึ่งจะสร้างมุมมองที่น่าประทับใจทุกครั้งในการเข้าบ้าน
สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้พื้นที่ใช้สอยและทรงรูปของบ้าน เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยความต่อเนื่องขององศาหลังคาและฝ้าเพดานภายใน ซึ่งสถาปนิกเลือกใช้ไม้เป็นวัสดุหลักเพื่อสร้างความอบอุ่นและลดเสียงสะท้อนในบ้าน รวมไปถึงดีเทลฝ้าไม้ที่ต่อเนื่องจากภายในสู่ภายนอก และสร้างบรรยกาศด้วยไฟหลืบยาวตลอดแนวหลังคาเพื่อเพิ่มความเบาลอยให้กับผืนหลังคา
และจากมุมมองภายนอกนั้น เราสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับบ้านด้วยรั้วระแนงไม้ ที่ทำหน้าที่เป็นเปลือกหุ้มอาคารชั้นที่สอง (Double Façade) ในทางกลับกัน พื้นที่ด้านในรั้วบ้านนั้นสร้างมุมมองพื้นที่โล่งและสวนสีเขียวให้กับเพื่อนบ้านที่ผ่านไปผ่านมาในซอยเช่นกัน
ในการออกแบบนั้นเราคำนึงถึงการลดการใช้พลังงานในอาคาร ด้วยการออกแบบเชิงวิเคระห์ (Passive Design) ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้งานสถาปัตยกรรมนั้นทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพโดยรูปทรงอาคารที่มีลักษณะเป็นหลังคาทรงปั้นหยา ที่มีช่องโล่งตรงกลางนั้น ได้มีการคว้าน พื้นที่หลังคาด้านทิศเหนือหนึ่งด้านออก เพื่อเปิดรับลมและแสงธรรมชาติให้เข้ามาในสวนกลางบ้านได้มากขึ้นซึ่งสวนกลางบ้านทำหน้าที่เป็นช่องนำแสงธรรมชาติ ลงสู่สวนกลางบ้าน และนำแสงสว่างเข้าสู่พื้นที่ในบ้านผ่านหน้าต่างสูงห้าเมตร ที่หันไปทางทิศเหนือ และทิศตะวันออก ซึ่งทำให้พื้นที่ในบ้านนั้นสว่างตลอดทั้งวัน
ผลงานการออกแบบจาก Looklen Architects Co., Ltd.
Architects :
คุณณัฐพล เตโชพิชญ์ (Founder / Director
Looklen Architects Co.,Ltd.)
Photographs: Varp Studio