จากห้องแถวขนาด 2 คูหา บริเวณแยกนางลิ้นจี่ ริมถนนพระราม 3 ที่ถูกใช้เป็นทั้งสำนักงานและโกดังเก็บสินค้าบริเวณชั้นล่างและที่ชั้นบนเป็นที่พักอาศัยมาเกือบ 40 ปี หลังจากเจ้าของบ้านใช้เวลาอีก 2 ปีในการตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะย้ายสำนักงานและบ้าน ไปอยู่ที่ใหม่ ที่สามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจและสมาชิกครอบครัวที่กำลังเพิ่มขึ้น
RCD House ตั้งอยู่บน ถนนศรีนครินทร์ จ.สมุทรปราการ ที่อยู่ท่ามกลางเพื่อนบ้านที่เป็นโกดังและโรงงาน, RCD Houseเป็นอาคารสูง 6 ชั้น ที่ประกอบไปด้วย สำนักงาน, โกดังเก็บสินค้าและบ้านพักอาศัยสำหรับครอบครัวใหญ่ของคน 3 รุ่น
สำหรับพื้นที่ส่วนหน้าของอาคารถูกออกแบบเพื่อใช้เป็นสำนักงานและโกดังเก็บสินค้า ส่วนด้านในของอาคารได้ออกแบบพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยของคุณยายและครอบครัวของคุณน้า โดยทั้งสองส่วนถูกแบ่งโดยการใช้ลานต้นน้ำเต้าเพื่อให้มีความเป็นส่วนตัว
ทางเดินจากหน้าอาคารเลาะข้างอาคารผ่านแปลงปลูกพืช ผักสวนครัวของเจ้าของบ้านอ้อมไปถึงด้านหลังอาคาร ซึ่งเป็นทางเข้าบ้านไปยังส่วนพักอาศัยที่อยู่ด้านบน
แนวคิดในการออกแบบที่ว่างภายในของส่วนสำนักงานนำมาจาก เมื่อเจ้าของบ้านได้แจ้งเรื่องย้ายที่ตั้งกับพนักงานบริษัท ทุกคนก็พร้อมที่จะย้ายตามมาทำงานที่ ที่ตั้งใหม่นี้อย่างเต็มใจ เพราะแต่ละคนล้วนทำงานกับ เจ้าของบ้านมาเป็นเวลาเฉลี่ย 8-10 ปี สถาปนิกจึงอยากจะสื่อถึงความสัมพันธ์ที่ดีของพนักงานที่มีต่อเจ้าของบ้าน จึงใช้แนวคิดนี้มาออกแบบที่ว่าง ให้สำนักงานส่วนตัวของเจ้าของบ้านซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 2 มีช่องเปิด(Open well)เชื่อมไปยังพื้นที่ทำงานชั้น 1 ได้
การตกแต่งภายในบริเวณชั้น 1-2 สถาปนิกต้องการจะสื่อถึงตัวตนของเจ้าของบ้าน เช่น วัสดุเลือกใช้วัสดุผิวหลักของพื้นและ ผนัง ที่เป็นปูนขัดมัน สื่อถึงเจ้าของบ้านที่เป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย รูปแขวนผนังที่ติดประดับผนังก็เป็นรูปของตึกเก่า, เครื่องมือช่างเก่า แทนการประดับด้วยรูปเขียนหรือรูปวิว
พื้นที่ชั้น 3 เป็นพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัวซึ่งประกอบไปด้วย ห้องรับแขก, ห้องนั่งเล่น, ห้องสนุ๊กเกอร์, ห้องออกกำลังกาย, ส่วนรับประทานอาหารด้านในและนอกชาน, พื้นที่สำหรับปลูกผักสวนครัว และทางเดินไปยังพื้นที่ดาดฟ้าของโกดังที่เป็นสนามบาสเก็ตบอล
ขั้น 4 เป็นพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัวเจ้าของบ้าน ดังนั้นบันไดขึ้นชั้น 4 จึงถูกออกแบบเป็นบันไดภายใน แยกเพื่อความเป็นส่วนตัว ทางขึ้นจากชั้น 3 มีประตูปิดไว้ โดยประตูนี้ถูกออกแบบให้เป็นบานเปิดที่เรียบ เนียนดูกลืนไปกับผนังทีวี ห้องนอนทั้ง 4 ถูกวางไว้รอบช่องโล่ง(Open well)ที่เปิดไปชั้น 3 ที่ทำให้มีแสงธรรมชาติส่องและลมพัดผ่านบริเวณชั้น 3, 4 ได้ตลอดวัน
ชั้น 5-6 เป็นพื้นที่สำหรับอนาคต เตรียมไว้สำหรับครอบครัวของลูกชายคนกลางและลูกชายคนเล็ก ที่ถูกออกให้เป็นแบบ Duplex ที่สามารถรองรับไว้สำหรับ 8 ห้องนอน
รูปทรงของอาคารถูกออกแบบมาจากปริมาณพื้นที่ใช้สอยที่พื้นที่ส่วนชั้นบนล่างจะน้อยสุดและค่อยๆเพิ่มขึ้นในแต่ละชั้น ดังนั้นรูปทรงอาคารจึงถูกออกแบบอย่างตรงไปตรงมา โดยใช้การยื่นของโครงสร้างพื้นออกมาในแต่ละชั้นให้สอดคล้องกับพื้นที่ใช้สอย ซึ่งการยื่นของพื้นในแต่ละชั้นนั้นก็จะทำให้เกิดร่มเงาสำหรับชั้นล่างๆ ระแนงไม้เทียมและราวกันตกที่ใส่เพิ่มเป็นส่วนประดับนั้น เพื่อต้องการจะสื่อถึงเส้นที่เชื่อมต่อระนาบยื่นของแต่ละชั้น